ประวัติ

ชื่อส่วนงาน ที่ตั้ง และประวัติความเป็นมาโดยย่อ

ชื่อส่วนงาน ที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์
หมู่ที่ ๘ บ้านโคกกระเพอ ตำบลนอกเมือง
อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ รหัสไปรษณีย์ ๓๒๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๔๔ – ๑๔๒๑๐๗
แฟ็กซ์ ๐๔๔ – ๑๔๒๑๐๘

ประวัติความเป็นมาโดยย่อ

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ เป็นส่วนงานระดับวิทยาเขต ซึ่งได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ ๘ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ มีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งคณะสงฆ์ไทย และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยตั้งอยู่บนพื้นที่ จำนวน ๑๐๐ ไร่ หมู่ที่ ๘ (ห้วยเสนง) ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ๓๒๐๐๐ โดยมีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาการ ดังนี้

แนวคิดที่จะตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ โดยพระราชสิทธิโกศล เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ และพระศรีธีรพงศ์ ฝ่ายจัดการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ มีแนวคิดที่จะขยายการศึกษาของคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ให้ครบวงจรขึ้น ทั้งนี้ได้รับความเห็นชอบและความสนับสนุนจาก นายเสนอ มูลศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

พระราชสิทธิโกศล เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ จึงมีหนังสือนิมนต์เจ้าคณะพระสังฆาธิการของจังหวัดสุรินทร์มาร่วมประชุมปรึกษาหารือที่อุโบสถวัดกลางสุรินทร์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๙ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้ง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ขึ้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ แต่ทางคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากขาดบุคลากรผู้จะดำเนินการ

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ คณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์พร้อมทั้งข้าราชการ คณาจารย์ พ่อค้าและประชาชน ได้พร้อมใจกันประชุมอีกครั้งหนึ่ง ที่วัดกลางสุรินทร์ โดยมีพระราชสิทธิโกศล เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายเถกิง เจริญศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ขึ้น โดยใช้อาคารสถานที่ของวัดศาลาลอย อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นสำนักงานและอาคารเรียนชั่วคราว ที่ประชุมได้มอบหมายให้ พระศรีธีรพงศ์ รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายจัดการศึกษา และพระมหาประจักษ์ จกฺกธมฺโม พุทธศาสตรบัณฑิต พระจริยนิเทศก์ประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้แทนคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ดำเนินการขออนุมัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ต่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๒/๒๕๓๑ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๑ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้ง วิทยาเขตสุรินทร์ ขึ้นใน คณะสังคมศาสตร์ โดยมีชื่อเต็มว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตสุรินทร์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ทำการปฐมนิเทศเปิดการศึกษารุ่นแรก เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑ มีพระภิกษุสามเณรสมัครเป็นนิสิตรุ่นแรกจำนวน ๔๙ รูป และได้ประกอบพิธีเปิดป้าย ณ อาคารเรียนโรงเรียนปริยัติธรรม วัดศาลาลอย เมืองสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส โดยมีเจ้าคณะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง ๑๗ จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง ๑๗ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสังฆาธิการ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

          ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับพระราชบัญญัติรับรองสถานภาพความเป็นนิติบุคคลของมหาวิทยาลัย และมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัย เรียกชื่อว่า พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๐ และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ ๑๑๔ ตอนที่ ๕๑ ก ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๐

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตสุรินทร์ จึงได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์”

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ย้ายมาดำเนินการยังสถานที่ตั้งถาวรบนเนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ ณ บ้านโคกพระเพอ หมู่ที่ ๘ (ห้วยเสนง) ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ได้ขยายการจัดการศึกษาไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยจัดตั้งเป็นห้องเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ ห้องเรียนวัดพระพุทธบาทเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดสอนสาขาวิชาพระพุทธศาสนา

๑.๒ ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์และพันธกิจ

ปรัชญา : จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม เชื่อมโยงการเรียนรู้ในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน
ปณิธาน : ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์
สุภาษิต : ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
(สํ.ส. ๑๕/๘/๕๑ (บาลี), สํ.ส. ๑๕/๘๐/๘๕ (ไทย) ฉบับมหาจุฬาฯ)

วิสัยทัศน์ : ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ระดับนานชาติ  ที่สร้างคนดีและเก่งอย่างมีสมรรถภาพ จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน

พันธกิจมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา  มีฐานะเป็นนิติบุคคล  และมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการด้านพระพุทธสาสนา  ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย  ให้การบริการแก่สังคม  ส่งเสริมพระพุทธศาศาสนา  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  จึงกำหนดพันธกิจไว้  ๕  ด้าน  ดังนี้

๑) ด้านการผลิตบัณฑิต : มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตให้มีภูมิคุ้มกัน มีคุณธรรม จริยธรรม ทักษะทางปัญญา มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีความรับผิดชอบ มีทักษะการวิเคราะห์เชิงคณิตศาสตร์ และการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ทุกแห่งทั่วโลก
๒) ด้านการวิจัย : มุ่งส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้าวิจัยให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและสันติสุข รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับสถาบันที่มีชื่อเสียงในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพของนักวิจัยให้นำไปสู่ความเป็นสากล
๓) มุ่งเน้นการให้บริการทางวิชาการในรูปแบบที่หลากหลาย : มีการบริหารเพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนา พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน มีความมุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติและนานาชาติ
๔) ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม : มุ่งส่งเสริมการศึกษาผสมผสานทางวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในประชาคมโลกด้านพระพุทธศาสนา โดยการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การรักษาความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันในประชาคมโลกอย่างมีเอกลักษณ์และศักดิ์ศรี เพื่อการสร้างสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นบุคคล องค์กรและสังคม
๕) ด้านการบริหารจัดการ : ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงกฎระเบียบ การบริหาร และพัฒนาบุคลากรให้เกิดการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล

๑.๓ เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์บัณฑิต

เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ “บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา”
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ“ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม”
อัตลักษณ์บัณฑิต คือ “มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา”